ในปี 2016 ที่ผ่านมานั้น จะเห็นว่าจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย และ เสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering) หรือ ที่เราคุ้นเคยกับคำว่า หุ้น IPO นั้นจะไม่ค่อยหวือหวาเท่าไร โดยมีจำนวนทั้งสิ้น ทั้งหมด 23 บริษัท (ไม่นับรวม REIT/PFUND)
ในขณะที่เมื่อเทียบกับ 2-3 ปีก่อนหน้า ในตลาด SET และ mai มีจำนวนหุ้น IPO เข้าเทรด ตกปีละ 40 กว่าตัวเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม หุ้น IPO เด็ด (talk of the town) สำหรับปีที่แล้ว คงหนีไม่พ้น หุ้นขนมหวานอย่าง After You (AU) หุ้น AU ที่ได้เดินเข้าสู่ตลาด mai ด้วยราคาจองเพียง 4.50 บาท แต่ราคาปิดเทรดวันแรกพุ่งไปที่ 13.50 บาท (ราคาปิด ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2016) ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงถึง200% เมื่อเปรียบเทียบกับราคาจอง (Offer price)
การที่ราคาหุ้นIPO ปิดเทรดวันแรกสูงกว่าราคาจอง ทางภาษาการเงินเราเรียกว่า IPO under-pricing หรือ อัตราผลตอบแทนแรกเริ่ม (Initial Return) โดยสิ่งนี้ไม่ได้ถือเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ สำหรับปรากฎการณ์ของหุ้นIPO ซึ่งมีงานวิจัยทำกันอย่างมากมาย ทั่วโลกเกี่ยวกับประเด็นนี้ นักวิชาการและนักวิจัย ต่างๆ ก็พยายามที่จะหา proxies ต่างๆ เช่น ขนาดของบริษัท (size of firms), อายุของบริษัท (age of firms), ความมีชื่อเสียงของที่ปรึกษาทางการเงิน (underwriter reputation), สัดส่วนของนักลงทุนประเภทต่างๆ (proportion of investors) และอื่นๆ มา อธิบายว่าทำไม หุ้นIPO ต้องถูกทำให้ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (under-priced)
ซึ่งชิ้นงานล่าสุดของผมก็เน้นไปที่ Intended use-of-proceed of IPOs คือ วัตถุประสงค์ของการระดมทุนหรือ การนำเอาเงินทุนไปใช้ เอาเข้าจริงแล้วทุกบริษัทก็แถบจะไม่ต่างกันคือ เปิดเผย (disclose)ข้อมูลการนำเงินไปใช้ อยู่ 3 ประการ บนหนังสือชี้ชวน นั่นคือ เอาเงินไปลงทุน ไปขยายธุรกิจ เอาเงินไปจ่ายหนี้ เอาเงินไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนสุทธิ
อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนแรกเริ่มนั้นก็เป็นเรื่องในอดีตที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้วใครได้ผลตอบแทนไปแล้วก็แล้วไป แต่สิ่งที่เรากำลังสนใจ ต่อจากนี้คือ แล้ว performance ของตัวหุ้นIPO ในอนาคตหล่ะครับ คนที่มีอยู่ควรถือต่อ (Buy-and-hold) เผื่อจะได้รับอัตราผลตอบแทน (positive abnormal return) ในระยะยาว หรือว่า ขายไปเลยทำกำไรดี หรือ ถ้าเรายังไม่มีควรเข้าซื้อซะเลยดีไหม?
เกริ่นนำเรื่องมาเสียยืดยาว เอาเป็นว่าผมจะมาแชร์ เรียกว่าเล่าเรื่องงานวิจัยมาให้ฟังง่ายๆ สำหรับคนไม่ได้เรียนการเงินมา
Professor Ritter จาก University of Florida ซึ่งถูกขนานนามว่า เป็นบิดาของงานวิจัยด้าน IPO ได้มีการเสนอ สมมติฐานอันนึง ที่เราเรียกว่า Fads hypothesis หรือ เรียกอีกชื่อว่า Impresario hypothesis ภาษาไทยแปลว่าอะไรไม่แน่ใจครับ ในสมมติฐานนี้ ระบุว่า “IPO underpricing is negatively related to performance of IPO in the long-run” หรือง่ายๆคือ ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนวันแรก กับอัตราผลตอบแทนในระยะยาวมีความสัมพันธ์ที่ตรงกันข้าม ครับ
โดยผมจะอธิบายง่ายๆนะครับ ระบบหุ้นจองIPO เนี่ยส่วนมากจะเป็นระบบล็อตเตอรี่ randomจองได้มา หรือไม่ก็จะระบบจัดสรร (quota) สำหรับคนมีเส้นสายดีๆกับโบรกเกอร์ แน่นอนครับ ตัวแทนจำหน่าย ก็พยายาม ที่จะสร้างความต้องการที่เอ่อล้นให้กับนักลงทุน (excess demand) ปัจจุบันในยุคdigital ก็คงไม่ยากเท่าไร ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็ เหมือนตั๋วดูแมตช์บอลหรือตั๋วคอนเสิรต์ที่จำกัดจำนวน นั้นแหละครับ ถ้าเรามีแมตช์นึงที่เราสนใจและอยากดูมากๆ แต่เราไม่สามารถจองตั๋วได้ จะทำไงครับ แน่นอนเราก็ไปซื้อหาเอาหน้างาน ในราคาที่มันพุ่งปรี๊ด (overprice) นั้นแหละครับ เช่นเดียวกัน ถ้าเราอยากได้หุ้นIPO ตัวนึงมากๆ แต่เราจองไม่ได้ ดังนั้นเราก็คงต้องโดดไปร่วมวงในวันแรกๆที่เข้าเทรด ซึ่งเป็นวันที่นักลงทุน ค่อนข้างจะโลกสวย (overoptimistic) ดังนั้น พอหุ้นIPO ที่เดิมทีนั้นไม่มีhistorical data หรือ ราคาหุ้นในอดีต มาช่วยวิเคราะห์แล้ว สายเทคนิค (Technical analysis) ก็เดี้ยงเหมือนกันนะครับ จะลากกราฟยังไงหล่ะทีนี้ คงต้องใช้ ข้อมูลราคารายนาที หรือ วินาทีแทน โดยปกติ ราคาจองนั้นก็มาจากRoad show หรือ การสำรวจราคาที่เหมาะสมจาก Potential investors (เรียกวิธีนี้ว่า Book building) เพราะฉะนั้นช่วงแรกของการเข้าเทรดในตลาด นักลงทุนจะเทรดด้วยอารมณ์มากกว่า นี่ถ้าย้อนกลับไปไม่กี่ปีที่ผ่านมา ราคาของหุ้นIPO ที่เทรดกันวันแรก จะไม่มีceiling (ราคาเพดาน) จะปิดเท่าไรก็ได้
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ทางตลท.หรือกลต. กำหนดไว้ที่ 200% จากราคาจอง คงเกรงการสร้างราคาหุ้น (stock price manipulation) กระมัง ไม่เช่นนั้น หุ้นAUอาจจะทะยานกว่านี้ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปข้อมูลต่างๆของบริษัท IPO ก็จะถูกปล่อยออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ราคาที่แท้จริงก็จะเริ่มถูกวิเคราะห์ออกมา ทำให้ราคาตลาด(market price) เริ่มปรับ เข้าสู่มูลค่าที่ควรจะเป็น แต่ในเมื่อ สมมติว่าราคาหุ้นมัน over valueไปแล้ว จะเกิดอะไรตามมา ก็ต้องรอดูต่อไป
นักวิชาการ และนักวิจัยหลายท่านก็ได้ทำการวิเคราะห์ในตลาดหุ้น IPO ในแต่ละประเทศ หลายชิ้นงานก็พบว่ายอมรับสมมุติฐานFads หรือ impresario กันอย่างแพร่หลาย แต่ประเด็นคือ คำว่า ผลตอบแทนระยะยาวของหุ้นIPO (long-run performance of IPOs) ที่เค้าศึกษากันนี่ระยะเวลาเท่าไร? ตอบคือ 6 เดือน ถึง 3ปี ครับ ที่นักวิจัยนิยม มาวิเคราะห์ โดยเปรียบเทียบกับราคาปิดเทรดวันแรกของหุ้นIPO โดยมีการปรับ กับอัตราผลตอบแทนของตลาดเข้าไปด้วย (ไม่ใช่เปรียบเทียบกับ ราคาจอง)
ถือว่าเป็นการบอกเล่าเรื่องงานวิจัย สนุกๆให้ฟังนะครับ ไว้มี Event study อะไรที่น่าสนใจก็จะมาแชร์ และเล่าสู่กันฟังใหม่ครับ
ดร. กุลบุตร โกเมนกุล
สาขาการเงินและการลงทุน
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต