เมื่อช่วงปี 1960 เขตปกครองตนเองชนชาติอี๋เหลียงซานเกิดการระบาดของโรคเรื้อน ทำให้ต้องแยกผู้ป่วยโรคเรื้อน 300 กว่าคนมาทำการรักษาในหมู่บ้านอาปู้ลั่วฮา (阿布洛哈村) ตั้งแต่นั้นหมู่บ้านแห่งนี้จึงถูกเรียกว่า “หมู่บ้านโรคเรื้อน”
หมู่บ้านอาปู้ลั่วฮา ตั้งอยู่ในชุมชนอูอี เขตปู้ทัว เขตปกครองตนเองชนชาติอี๋เหลียงซาน มณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน อยู่บนเขาที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,000 เมตร ซึ่งชื่อหมู่บ้านในภาษาพื้นเมืองของชนเผ่าอี๋มีความหมายว่า “หุบเขาในป่าลึก” และ “สถานที่ที่ไม่มีคนย่างกราย”
หมู่บ้านแห่งนี้มี 83 ครัวเรือน รวมชาวบ้าน 249 คน ซึ่งในนั้น 9 คนเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อน ส่วนที่เหลือเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อนที่หายดีเป็นปกติแล้ว
ทัวเจว๋เซ่อจื่อ (拖觉色子) ผู้อำนวยการโรงเรียนประถมในหมู่บ้านกล่าวว่า “เมื่อปี 2006 ผมมาสอนหนังสือที่นี้ ในตอนนั้นยังไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ของใช้ในชีวิตประจำวันก็ไม่มี ความยากจนของหมู่บ้านทำให้ผมตะลึงจนพูดไม่ออก”
ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2005 “หลินเฉียง” (林强) เจ้าหน้าที่จากกรมศึกษาธิการมาสำรวจที่นี่ โดยเก็บภาพความยากจนและการใช้ชีวิตอย่างยากลำบากของชาวบ้าน ด้วยความพยายามของเขาอีกครึ่งปีถัดมา โรงเรียนประถมแห่งนี้ก็ถูกก่อตั้งขึ้นอย่างสำเร็จ ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนประถมหลินฉวน”
ต่อมา เพื่อเป็นการพัฒนาหมู่บ้านอาปู้ลั่วฮาที่ยากจนและล้าหลัง รัฐบาลท้องถิ่นก็ดำเนินการขจัดความยากจน เพียงไม่กี่ปี หมู่บ้านแห่งนี้ก็เริ่มมีสีสัน จากบ้านฟางที่ทรุดโทรมกลายเป็นบ้านที่ทำจากดินโคลนและอิฐ โม่ที่ใช้แรงมือก็เปลี่ยนเป็นเครื่องขัดสีที่ใช้มอเตอร์แทน
การพัฒนาที่นี่เป็นภาระที่ใหญ่หลวงมาก ซึ่งการขจัดความยากจนสำคัญที่สุด เนื่องจากมีคำกล่าวที่ว่า “หากต้องการร่ำรวยมีเงินทอง ต้องสร้างถนนก่อน” จนปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้มีถนนเชื่อมต่อไปสู่โลกภายนอกแล้วในที่สุด