กลุ่มนักวิจัยชาวออสเตรเลีย จากมหาวิทยาลัย La Trobe ในเมืองเมลเบิร์น ได้พัฒนายาตัวหนึ่งขึ้นมา จากแอนติบอดีที่ค้นพบในเลือดฉลาม และได้รับการอนุมัติให้นำมาทดลองใช้ในมนุษย์เป็นครั้งแรกของโลกแล้ว โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนหลายล้านดอลลาร์
ยาชนิดนี้ถูกพัฒนาให้สามารถป้องกันการเกิดพังผืด หรือการก่อตัวของเนื้อเยื่อหนาและรอยแผลเป็น ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขได้ โดยใช้โปรตีนมนุษย์ที่ผลิตขึ้นจากรูปร่างแอนติบอดีของปลาฉลาม ซึ่งกำลังถูกนำมาทดสอบในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพรุนแรงอันหลากหลาย ทั้งโรคปอด ไต ดวงตา ผิวหนัง ตับ และหัวใจ อยู่ในขณะนี้
“พังผืดเป็นผลลัพธ์ขั้นสุดท้ายที่เกิดขึ้นจากโรคร้ายหลายชนิด ซึ่งอาจส่งผลรุนแรงถึงชีวิตในภายหลัง” Mick Foley จากสถาบัน La Trobe ด้านวิทยาศาสตร์โมเลกุล ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ News Limited ในวันจันทร์ที่ 30 ม.ค. 2017
“หากอวัยวะของคุณมีโรคร้ายหรืออาการบาดเจ็บ ร่างกายก็พยายามจะรักษาตัวเอง จนผลิตคอลลาเจนออกมามากเกินไป และเกิดการสะสมของเนื้อเยื่อพังผืด ท้ายที่สุดมันก็จะทำให้การทำงานของอวัยวะนั้นล้มเหลว”
Foley กล่าวว่า หากเลือดปลาฉลามถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์โดยตรง ร่างกายก็จะรับรู้ว่าเป็นโมเลกุลแปลกประหลาดและปฏิเสธมัน
“เราจึงต้องใช้วิธีการสร้างโมเลกุลในห้องปฏิบัติการที่มีลักษณะเหมือนปลาฉลาม แต่เป็นของมนุษย์ เพื่อที่จะฉีดเข้าไปแล้วไม่ถูกปฏิเสธออกมา” เขากล่าว