ศ.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เห็นด้วยในหลักการตามที่ตนเสนอให้สถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสมาชิก ทปอ. ทั้ง 27 แห่ง เก็บข้อมูลเกี่ยวกับบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปแต่ปีละว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และมีงานทำหรือไม่ โดยการเก็บข้อมูลให้สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งเก็บข้อมูลในช่วงเวลาเดียวกัน คือ หลังจากที่เด็กจบการศึกษาไปแล้ว 1 ปี เพื่อนำข้อมูลมาใช้วางแผนกำลังคนในการพัฒนาประเทศ ดูว่าการผลิตบัณฑิตตอบสนองความต้องการของประเทศหรือไม่ สาขาไหนผลิตมากเกินไปจะได้ปรับลด ไม่ให้ล้นตลาดเหมือนทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อมูลของแต่ละสถาบันอุดมศึกษามาเปรียบเทียบกันได้ อย่างน้อยในสาขาเดียวกัน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะนำข้อมูลนี้ไปใช้ประโยชน์ด้วย เช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อาจจะดูว่าสาขาไหนที่ควรจะให้กู้ยืมได้บ้าง ให้กู้แล้วมีโอกาสได้เงินคืน เป็นต้น
ศ.นพ.อุดม ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานั้น ไม่ใช่แค่ว่าเด็กจบ 100% หรือ จบออกไปกี่คน เช่น มม.รับมา 5,000 กว่าคน พอเรียนปี 4 แล้วก็จบออกไป 5,000 คน ก็ไม่ได้บอกอะไร และ จะนำข้อมูลของบัณฑิตที่จบการศึกษาในแต่ละปีจากแต่ละสถาบันมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ด้วย เพราะต่างคนต่างเก็บ ไม่มีแบบฟอร์มเดียวกัน บางที่หลังเด็กเรียนจบ 3 เดือนก็เก็บข้อมูล หรือ เก็บช่วงรับปริญญา ซึ่งตัวเลขที่ได้ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม การเก็บข้อมูลในช่วง 1 ปี จะสำเร็จหรือไม่ ยังบอกไม่ได้ ตนก็หนักใจ แต่ต้องไปหาวิธีการที่เข้มข้นและพยายามเก็บข้อมูล ให้ได้ 80-90% ของเด็กที่จบในแต่ละปี ไม่ใช่เก็บได้แค่ 50-60%
ที่มา : www.dailynews.co.th