คงเร็วเกินไปที่นักวิชาการและสื่อไทยจะคัดค้านแผนการระเบิดเกาะแก่งและโขดหินในแม่น้ำโขง ที่มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการเดินเรือ เพราะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่าแผนการดังกล่าวจะทำลายสิ่งแวดล้อม หรือก่อให้เกิดผลกระทบอื่นๆ
ในช่วงนี้ สื่อและนักวิชาการไทยได้กล่าวโทษจีนที่กำลังผลักดันแผนการดังกล่าว โดยชี้ว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำจืดและสภาพแวดล้อมได้
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์จูเจิ้งหมิง (朱振明) นักวิชาการชาวจีนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับนักข่าวซินหัวว่า คำกล่าวโทษดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยัน เนื่องจากหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าโครงการนี้จะทำลายความแตกต่างทางธรรมชาตินั้นยังไม่ปรากฏให้เห็น
ศาสตราจารย์จูจากสถาบันวิจัยสังคมศาสตร์แห่งมณฑลยูนนาน นักวิชาการผู้ศึกษาเกี่ยวกับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานกว่า 30 ปี กล่าวว่า นักวิชาการและสื่อไทยบางรายควรจะศึกษาก่อนว่าการระเบิดเกาะแก่งและโขดหินจะส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ จริงหรือไม่
เมื่อพูดถึงความเป็นไปได้ที่ประชากรปลาจะถูกคุกคาม เนื่องจากเกาะแก่งและโขดหินเป็นสถานที่เพาะพันธุ์ของพวกมัน เขากล่าวว่าการระเบิดเกาะแก่งในยูนนานจะไม่มีผลกระทบที่ใหญ่โตหรือรุนแรง
ศาสตราจารย์จูย้ำถึงแผนการวิจัยด้านสภาพแวดล้อมและการประเมินทางสังคมว่า “เรากำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษา ดังนั้นเราควรจะรอผลการประเมิน ตอนนี้จึงนับว่ายังเร็วเกินไปที่จะคัดค้านแผนการนี้ อีกทั้งนักวิชาการและสื่อไทยก็ไม่ควรกล่าวโทษจีนที่ผลักดันแผนการหรือด่วนตัดสินอย่างผิดๆ”
แผนการที่จะปรับปรุงเส้นทางเดินเรือตามแนวแม่น้ำโขง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำนั้น ไม่ใช่การตัดสินใจที่เกิดขึ้นจากจีนเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากอีก 4 ประเทศ คือ จีน ลาว พม่า และไทยอีกด้วย เขากล่าว
ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้อนุมัติแผนพัฒนาเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (2015-2025) โดยมีการเริ่มต้นสำรวจ ออกแบบ และประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้วเรียบร้อย
“ก่อนหน้านี้ จีน ลาว พม่า และไทยได้ร่วมกันจัดตั้งทีมศึกษาและเห็นพ้องต้องกันที่จะระเบิดเกาะแก่ง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือในแม่น้ำ ทั้งยังตกลงที่จะจัดตั้งทีมงานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำหน้าที่สำรวจและออกแบบเส้นทาง ให้เรือบรรทุกสินค้าขนาด 500 ตันสามารถแล่นผ่านไปได้” กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไทยกล่าว
แผนการดังกล่าวได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก (2015-2020) จะเน้นไปที่การปรับปรุงเส้นทางเดินเรือ 630 กิโลเมตร จากหลักหมายเลข 243 ในชายแดนจีนพม่า ไปยังหลวงพระบางประเทศลาว ส่วนระยะที่ 2 (2020-2025) คือการปรับปรุงเส้นทางเดินเรือ 259 กิโลเมตร จากท่าเรือซือเหมาในมณฑลยูนนาน ไปยังหลักหมายเลข 243 ในชายแดนจีนพม่า โดยขั้นตอนในการดำเนินงานของแผนทั้งสองระยะ ยังรวมถึงการก่อสร้างท่าเรือสำหรับขนส่งสินค้าและผู้โดยสารอีกด้วย
ขณะนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า แผนการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการสูญเสียใดหรือไม่ แต่ผลประโยชน์ที่ไทย ลาว และทุกคนที่เกี่ยวข้องจะได้รับนั้นเป็นที่ชัดเจนแล้ว ศาสตราจารย์จูกล่าว
ลำน้ำโขงไหลมาจากจากเขื่อนจิ่งหงในมณฑลยูนนาน ผ่านย่านห้วยทรายในประเทศลาว และผ่านอำเภอเชียงของในประเทศไทย เป็นแม่น้ำที่เชื่อมจีน พม่า ไทย และลาวเข้าด้วยกัน ลำน้ำสายนี้เปิดให้ใช้ในการเดินเรือเชิงพาณิชย์เมื่อปี 2001 แต่มีอุปสรรคเนื่องจากลำน้ำบริเวณส่วนห้วยทรายถึงหลวงพระบางมีแก่งหินเป็นจำนวนมาก
“มีโขดหินจำนวนมากในแม่น้ำแห่งนี้ ในช่วงฤดูแล้ง โขดหินจะอยู่สูงกว่าระดับผิวน้ำ แต่ในช่วงฤดูฝน จะอยู่ใต้ผิวน้ำ กลายเป็นอุปสรรคสำหรับการเดินเรือและเป็นอุปสรรคในการขนส่งทางน้ำ” ศาสตราจารย์จูกล่าว
ศาสตราจารย์ จูเจิ้งหมิงกล่าวว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกคน และการปรับปรุงการเดินเรือจะต้องเป็นประโยชน์กับทุกประเทศที่อยู่ในเส้นทางการไหลของแม่น้ำอย่างแน่นอน โดยเฉพาะไทยและจีน เพราะเรือส่วนใหญ่ที่ใช้การข่นส่งทางน้ำมาจากสองประเทศนี้
ผู้เชี่ยวชาญบางคนของไทยกล่าวว่าหากมีการดำเดินการตามแผนของโครงการนี้ประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์ไม่คุ้มกับผลเสีย เพราะตัวเลขสถิติทางการค้าระหว่างจีนกับไทยในพื้นที่เขตอำเภอเชียงของและเชียงแสงแสดงให้เห็นว่า ไทยส่งออกมากกว่าและนำเข้าน้อยกว่า
อย่างไรก็ดีเขากล่าวว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิดอย่างมาก ในการรีบร้อนสรุปข้อสรุปดังกล่าว ที่ได้ข้อมูลมาจากจุดตรวจเพียงสองจุดซึ่งเป็นข้อมูลในช่วงเวลาสั้นๆ และไม่ควรใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเพียงสองแห่งในการมองภาพการค้าระดับประเทศ อีกทั้งการค้าและเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้ไทยจะขาดดุลทางการค้าจีนในปีที่ผ่านมา แต่ในอดีตไทยเคยเกินดุลการค้าจีนนานหลายปี ดังนั้นจึงไม่ควรด่วนตั้งข้อสรุปจากตัวเลขสถิติเหล่านี้
พร้อมเสริมว่า “จีนเป็นหนึ่งในสองอันดับแรกของจุดหมายปลายทางในการส่งออกของไทยในปีที่ผ่านมา ดังนั้นผมแน่ใจว่าการปรับปรุงการเดินเรือจะช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มยอดการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีน”และจะยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางทางน้ำ จะทำให้การเดินทางไปยังเมืองหลวงพระบาง เมืองหลวงในอดีตของลาวซึ่งเป็นเป็นมรดกโลก สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวจะเพลิดเพลินไปกับการชมภูมิทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งจะทำให้ประเทศที่อยู่ตามรายทางหลายประเทศได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตของการท่องเที่ยว
เขากล่าวว่าในอนาคต การศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการตัดสินว่าแผนการระเบิดเกาะแก่งนี้จะส่งผลกระทบต่อชุมชนและประชาชนในท้องถิ่นหรือไม่ เพราะวิถีชีวิตของพวกเขาอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
ชาวบ้านในขณะนี้ อาจคิดว่าพวกเขาชอบชีวิตที่เงียบสงบแบบที่เป็นอยู่ แต่แน่นอนว่าหากเกิดโครงการนี้ พวกเขาย่อมจะได้รับประโยชน์จากการขนส่งที่สะดวก
ศาสตราจารย์จูกล่าวอีกครั้งว่า ผู้เชี่ยวชาญชาวไทยบางคน ไม่ควรมีความคิดเชิงลบเกี่ยวกับโครงการนี้ ก่อนที่จะได้ศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียของมันอย่างเต็มที่และอย่างตรงไปตรงมาเสียก่อน อีกทั้งสื่อมวลชนก็ไม่ควรนำโครงการพัฒนานี้มาโยงเป็นประเด็นทางการเมือง