สถิติใหม่! คนไทยอ่านนานขึ้น 66 นาทีต่อวัน

1656
สถิติใหม่! คนไทยอ่านนานขึ้น 66 นาทีต่อวัน

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) จับมือสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลน่ายินดี คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นเป็น 66 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่มีอัตราการอ่านสูงสุดในทุกวัย อย่างไรก็ตาม ยังคงสำรวจพบผู้ไม่อ่านและไม่รู้หนังสือ พร้อมเร่งสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้คนไทยทุกเพศทุกวัย ด้วยโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในทั่วทุกภูมิภาค เพื่อร่วมสร้างการเรียนรู้ที่เข้มแข็งให้เกิดในสังคม

สถิติใหม่! คนไทยอ่านนานขึ้น 66 นาทีต่อวัน

โดยเมื่อวันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยนางปัทมา  อมรสิริสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักสถิติสังคม  จัดงานแถลงข่าวผลสำรวจสถิติการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2558 และเสวนาในหัวข้อ “ผลสำรวจการอ่านกับแนวโน้มพฤติกรรมการอ่านของคนไทย”

มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. นายณัฐวุฒิ พงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี จำกัด และนายวัฒนชัย วินิจจะกูล หัวหน้าฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) เพื่อเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านและรับรู้ข้อมูลที่จะนำไปใช้ประกอบแนวทางการทำงานส่งเสริมการอ่านต่อไป

สำหรับสถิติการอ่านของประชากรไทย จัดทำขึ้นโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติทุกรอบ 2 ปี โดยปี พ.ศ. 2558 ได้ขยายคำนิยามการอ่าน ให้รวมการอ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ / SMS / E-mail ด้วย  และทำการสำรวจจากประชากรตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2558 ซึ่งสรุปผลการสำรวจที่สำคัญได้ดังนี้ คือ

ในการอ่านของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เด็กเล็กที่อ่านมีประมาณ 2.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 60.2  โดยเด็กผู้หญิงมีอัตราการอ่านสูงกว่าเด็กผู้ชายเล็กน้อย คือร้อยละ 60.9 และร้อยละ 59.5 และมีความแตกต่างกันระหว่างเขตการปกครองและภาค โดยในเขตเทศบาลมีอัตราการอ่านสูงกว่านอกเขตเทศบาล คือ ร้อยละ 63.9 และ 57.4 ตามลำดับ ส่วนเด็กเล็กในกรุงเทพมหานคร มีอัตราการอ่านสูงสุด คือร้อยละ 73.8 ขณะที่ภาคตะวันออก-เฉียงเหนือ เด็กเล็กมีอัตราการอ่านต่ำสุด คือร้อยละ 55.9

ในส่วนการอ่านของประชากรอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป พบว่ามีอัตราการอ่านร้อยละ 77.7  ผู้ชายมีอัตราการอ่านสูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย คือร้อยละ 78.9 และ 76.5 ตามลำดับ โดยวัยเด็กและวัยเยาวชนมีอัตราการอ่านสูงใกล้เคียงกันคือร้อยละ 90.7 และ 89.6  รองลงมาคือ กลุ่มวัยทำงาน คือร้อยละ 79.1 และต่ำสุดคือกลุ่มวัยสูงอายุ คือร้อยละ 52.8

ด้านประเภทของหนังสือที่อ่านหนังสือพิมพ์เป็นประเภทของหนังสือที่มีผู้อ่านสูงสุด คือ ร้อยละ 67.3 รองลงมาคือ ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ /SMS  /E-mail  คือ ร้อยละ 51.6  ซึ่งเนื้อหาสาระที่ผู้อ่านชอบอ่านมากที่สุด คือ ข่าว สารคดี และความรู้ทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 48.5 เท่ากัน

โดยเวลาเฉลี่ยที่ใช้อ่านเฉลี่ย 1 ชั่วโมง 6 นาทีต่อวัน หรือ 66 นาที โดยกลุ่มเยาวชนใช้เวลาอ่านมากที่สุด เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 34 นาทีต่อวัน หรือ 94 นาที กลุ่มวัยเด็กและวัยทำงานใช้เวลาอ่านเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 1 ชั่วโมงเล็กน้อย ส่วนวัยสูงอายุใช้เวลาอ่านน้อยที่สุดเฉลี่ย 44 นาทีต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 พบว่า ทุกวัยใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้น เนื่องจากปี 2558 ได้เพิ่มการอ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ /SMS  /E-mail ด้วย  โดยกลุ่มวัยเยาวชนใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 44 นาที ต่อวัน

และท้ายสุดข้อมูลสถิติยังกล่าวถึงนโยบายการสนับสนุนการอ่านว่า วิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านที่ดีที่สุดคือ ปลูกฝังให้รักการอ่านผ่านพ่อ แม่ และครอบครัว, ให้สถานศึกษามีการรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน,  รูปเล่มและเนื้อหาน่าสนใจ หรือใช้ภาษาง่าย ๆ ส่งเสริมให้มีห้องสมุด ห้องสมุดเคลื่อนที่ มุมอ่านหนังสือในชุมชน หรือพื้นที่สาธารณะ และทำให้หนังสือสามารถหาซื้อหรือเข้าถึงได้ง่าย

ที่มา : www.tkpark.or.th