หลักสูตร บทจ. สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน เชิญ รศ.ดร.สมภพ มองจีนยุคใหม่กับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  หลังเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาล่าสุด

22

หลักสูตร  บทจ.  สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน เชิญรศ.ดร.สมภพ มองจีนยุคใหม่กับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  หลังเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาล่าสุด

เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา หลักสูตร”ผู้บริหารธุรกิจไทย-จีน” หรือ บทจ. รุ่น1 ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ภายใต้ความร่วมมือจากหอการค้าไทย-จีน และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย โดยมีรายการ จับจ้องมองจีน และ China Media Group ของจีน เป็นผู้ร่วมสนับสนุน ได้เชิญ  รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “จีนยุคใหม่กับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ? หลังเลือกตั้งอเมริกาล่าสุด” ณ รร.ดิเอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

โดยในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ได้มาร่วมเสวนา หัวข้อ”ใครมาจีนได้ ใครไปจีนเสีย” วิเคราะห์ศึกเลือกตั้งอเมริกาแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นวงเสวนาก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าคะแนนทั้งสองฝ่ายคือ ‘กมลา แฮร์ริส’  พรรคเดโมแครต และ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’  พรรครีพับลิกันน่าจะออกมาสูสีมากที่สุด  แต่เมื่อผลออกมา คะแนนของ โดนัลด์ ทรัมป์ชนะ กมลา แฮริส แบบขาดลอย โดยเฉพาะในรัฐที่เรียกว่า Swing State เช่นรัฐมิชิแกน รัฐเพนซิลวาเนีย รัฐจอร์เจีย รัฐวิสคอนซิน รัฐเหล่านี้ทรัมป์ก็กวาดคะแนนเหนือ กมลา แฮริส

เมื่อวิเคราะห์ถึงการพ่ายแพ้ของเดโมแครตต่อรีพับรีกันในครั้งนี้ รศ.ดร.สมภพ มองว่าเรื่องปัญหาปากท้องของคนอเมริกันที่ไม่ได้รับการแก้ไขในยุคของโจ ไบเดน จากเดโมแครตเป็นปัญหาใหญ่ เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ค่าจ้างปรับขึ้นไม่ทันต่อค่าครองชีพ ราคาน้ำมันในสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้นจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาระหว่างอิสราเอล-เลบานอนที่ยืดเยื้อ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และข้อที่ทำให้แฮริสแพ้โดยตรงก็คือปัญหาคนเข้าเมืองหลายล้านคน มาแย่งอาชีพคนอเมริกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชายแดนที่ติดกับเม็กซิโก สมัยที่แฮริสเป็นรองปธน.ได้รับมอบหมายให้ดูแลชายแดนเม็กซิโกโดยตรง อีกสาเหตุคือการที่กลุ่มคนหนุ่มสาว Gen Z ในสหรัฐฯที่ไม่ออกมาใช้เสียง กลุ่มนี้คะแนนหายไปถึง 15%

ส่วนสาเหตุที่ทรัมป์ได้รับเลือกกลับเข้าทำเนียบขาวอีกครั้ง ก็เป็นเพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ผิดหวังการบริหารงานของโจ ไบเดน หลายเรื่อง  กลุ่มคนอาหรับ มุสลิมที่มองว่าปัญหาอิสราเอล-เลบานอนยืดเยื้อ กีดกันคนเหล่านี้เข้าประเทศ  ส่วนกลุ่ม Rural Voter ก็เป็นกลุ่มคนที่อยากได้ปธน.สหรัฐฯที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอเมริกา ความวิตกกังวลทางเชื้อชาติ และสุดท้ายคือกลุ่มชายผิวสีอเมริกันที่ชื่นชอบบุคลิกของทรัมป์มากกว่าผู้หญิง

เมื่อทรัมป์ได้รับการเลือกตั้งเป็นปธน.สหรัฐฯ ไม่เพียงเฉพาะจีน แต่โลกมีแนวโน้มต่อไปนี้ เกิดขึ้น ปัญหาทาง “ภูมิรัฐศาสตร์” จะอ่อนลง การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาในตะวันออกกลาง ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี  อาจจะไปในทางที่ดีขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดูแลเรื่องความมั่นคงในประเทศต่างๆเช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ในตะวันออกกลางอาจจะลดลง เรื่องเหล่านี้น่าจับตามอง เนื่องจากอเมริกาในรัฐบาลทรัมป์จะไม่ใช้เงินทุ่มไปกับปัญหานอกประเทศเหล่านี้ ขณะเดียวกัน ในเรื่อง “ภูมิเศรษฐศาสตร์” กลับจะเข้มข้นขึ้น หลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งปธน.ของทรัมป์ต้นเดือนมีนาคมปีหน้า นโยบายของคนรอบข้างที่ทรัมป์เลือกมาเป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งสำคัญๆเช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ซึ่งต้องทำงานหนักเรื่องดุลการค้า จะมีผลต่อจีน และประเทศในเอเชียแปซิฟิกเป็นสำคัญ คู่ค้าที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯอาจต้องมีการเจรจาทวิภาคีเป็นรายๆไป นโยบายด้านเศรษฐกิจจะมีการแปรเปลี่ยนอย่างมาก และจะมีผลต่อจีนอย่างไร

คำถามสำคัญคือ อเมริกาจะมองจีนเป็นคู่แข่งทางการค้า เป็นภัยคุกคามต่ออเมริกาหรือไม่ จะเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนเช่นก่อนหน้านี้หรือไม่ เพราะสิ่งที่สหรัฐฯกังวลกับจีนมากที่สุดคือเรื่องที่จีนมีการพัฒนาด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าอเมริกาไปมากแล้ว อีกเรื่องคือโครงการอวกาศ ซึ่งจีนเพิ่งมีโครงการไม่นาน แต่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมากมาย รวมถึงรถไฟความเร็วสูง การสรรหาพลังงานทดแทน ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า(EV) ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เหนือการคาดเดาทั้งสิ้น รศ.ดร.สมภพ วิทยากรได้กล่าวคำพูดทิ้งท้ายว่า “very unpredictable”