หากคุณเคยมีประสบการณ์ล่องเรือสำราญมาก่อน คุณคงเคยเห็นป้าย “Always keep the door locked!” ที่ติดไว้เพื่อบอกว่าบริเวณนี้สงวนให้เฉพาะเจ้าหน้าที่บนเรือเท่านั้น ทว่าจะมีคนนอกสักกี่คนที่ได้มีโอกาสเยื้องกรายเข้าไปชมพื้นที่ต้องห้ามหลังป้ายนี้
แม้อาชีพงานบริการนั้นจะมีเป็นจำนวนมาก แต่ประสบการณ์ทำงานบนเรือสำราญถือว่าแตกต่างกับงานบริการประเภทอื่นๆ ผลสำรวจปรากฎว่า พนักงานเรือสำราญกว่าร้อยละ 60-70 เคยทำงานโรงแรมมาก่อน และส่วนใหญ่เป็นชาวฟิลิปปินส์ จีน เวียดนาม มาเลเซีย อินเดีย และเนปาล
ตำแหน่งที่ต้องมีความรู้ด้านเทคนิคมากที่สุดบนเรือ คือเจ้าหน้าที่ผู้ให้ความบันเทิง เพราะในแต่ละวันพวกเขาจะต้องจัดการแสดงที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งรายเก่าและรายใหม่ ส่วนตำแหน่งที่ทำงานหนักที่สุด คงหนีไม่พ้นเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องจักร ที่ต้องคอยตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ เป็นเวลาหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้การดำเนินงานของเครื่องยนต์เป็นไปอย่างต่อเนื่องตามปกติ
ส่วนตำแหน่งเชฟบนเรือสำราญนั้น คงถือได้ว่ามีเงื่อนไขในการทำงานที่แตกต่างกับเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันบนบกมากที่สุด เพราะเชฟบนเรือสำราญต้องปรุงอาหารโดย “ไม่ใช่ไฟ” ทั้งยังต้องตระเตรียมอาหารและเครื่องดื่มอย่างต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน เพราะปกติแล้ว บนเรือสำราญจะต้องเสิร์ฟอาหาร 6 มื้อต่อวัน ได้แก่ มื้อเช้า น้ำชายามเช้า มื้อกลางวัน น้ำชายามบ่าย มื้อกลางคืนและ มื้อหลังเที่ยงคืน
ส่วนตำแหน่งสุดท้าย ที่ถูกเรียกว่าเป็นตำแหน่งที่เครียดที่สุดนั่นคือ กัปตันเรือ เพราะก่อนที่จะมาทำงานเป็นผู้ขับเรือสำราญลำยักษ์ได้ เขาต้องผ่านประสบการณ์การทำงานจากตำแหน่งผู้ช่วยต้นเรือ (Third Officer) ต้นหน (Second Officer) จนกลายมาเป็นต้นเรือ (Chief officer) ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าสิบปี เพื่อพิสูจน์ความสามารถ และได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่และลูกเรืออีกหลายร้อยชีวิต มีบุคคลวงในที่เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ชาวจีนที่ทำงานบนเรือสำราญได้เงินเดือนราว 600 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติได้เงินประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ