งานเทศกาลไหว้พระจันทร์ ไทย-จีน ภิรมย์ชมจันทร์ เต็มดวงทั่วหล้า ที่ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์

18

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพ จัดงานเทศกาลไหว้พระจันทร์สุดยิ่งใหญ่ “ไทย-จีน ภิรมย์ชมจันทร์ เต็มดวงทั่วหล้า” สานสัมพันธ์ไทย-จีนแน่นแฟ้น

นักศึกษาไทยและจีนกว่า 500 คน เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ ประจำปี 2567 “ไทย-จีน ภิรมย์ชมจันทร์ เต็มดวงทั่วหล้า” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพ กรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเมืองเทียนจิน และ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 โดยภายในงานได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญไทย-จีน เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง อาทิ คุณหลี่เส้าเจ๋อ เลขานุการเอกประจำสถานทูตจีน, คุณเชว่ เสี่ยวหัว ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมประเทศจีนประจำกรุงเทพมหานคร และ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีนประจำกรุงเทพมหานคร, คุณหลี่ เจี้ยนจวิน รองคณบดีวิทยาลัยนาฏศิลป์และการแสดงและผู้อำนวยการคณะศิลปะการแสดงเทียนจิน, ศาสตราจารย์ฟู่ เจิงโหย่ว รองประธานสมาคมครูจีนแห่งประเทศไทย, ตัวแทนจากสื่อมวลชนทั้งไทยและจีน สายการบินเสฉวน สายการบินไห่หนาน และตัวแทนจากภาคเอกชนต่างๆ รวมทั้งผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผศ. ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ, ผศ. ดร.ศิริเดช คำสุพรหม รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ และอาจารย์โหยว เสียง คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีน

คุณเชว เสี่ยวหัว ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมประเทศจีนประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า งานเฉลิมฉลองเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ที่ DPU ในปีนี้ จัดขึ้นเพื่อให้บรรดานักศึกษาชาวจีนคลายความคิดถึงบ้านเกิด ทั้งยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยได้สัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมจีน และเรียนรู้วัฒนธรรมจีนตั้งแต่ยุคราชวงศ์ถัง เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนภาษาจีน พร้อมกับสานต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักศึกษาสองชาติ โดยภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การแสดงศิลปะการต่อสู้อันยอดเยี่ยมอาวุธร้อยตระกูล การแสดงดนตรี การเต้นระบำถังเตี้ยวว่านอัน การแสดงกายกรรมจวีเติงจี้ จากคณะกายกรรมเทียนจิน รวมทั้ง บัลเลต์บนไหล่ ที่ผสมผสานกับการแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัย แสดงให้เห็นความหมายแฝงทางวัฒนธรรมอันลึกซึ้งของนกจิงเว่ยถมทะเล และยกย่องจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของความมานะและอุตสาหะของประเทศจีน

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเพิ่มเติมให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสมรดกทางวัฒนธรรม ได้แก่ การทำขนมหมาฮวากุ้ยฟาเสียง ขนมโบราณที่มีชื่อเสียงของเมืองเทียนจิน การปั้นตุ๊กตาแป้งเทียนจิน ซึ่งเป็นศิลปะการปั้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีต้นกำเนิดมาจากตุ๊กตาปั้นแป้งเหอเจ๋อ มณฑลชานตงในสมัยราชวงศ์ชิง การสาธิตการทำเครื่องประดับเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมของตระกูลหวัง ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน โดยส่วนใหญ่เผยแพร่ในแถบปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย์ และเป็นเทคนิคที่ประณีตในการวาดรูปและการปักลายเพื่อผลิตเสื้อผ้า เครื่องประดับที่มีกระบวนการผลิตที่ลึกซึ้ง และ ถือเป็นสมบัติล้ำค่าของมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเทียนจิน

ผศ. ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ กล่าวว่า ประเทศจีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จึงมีบทบาทสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญภาษาจีนเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ ทั้งนี้ การเรียนรู้ภาษาให้ดีนั้น ควรจะต้องเรียนรู้ภาษาผ่านการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมเพื่อที่จะสื่อสารและปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม  และขอขอบคุณศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ที่ได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมเทศกาลไหว้พระจันทร์ในทุกปี การแสดงและกิจกรรมต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่า “วัฒนธรรมไทยและจีน” นั้นมีสายใยผูกพันเชื่อมโยงกัน และเป็นรากฐานที่สำคัญของความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ

ขณะที่ ผศ. ดร.ศิริเดช คำสุพรหม รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้วัฒนธรรมจีนทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะทางด้านภาษาและวัฒนธรรมอย่างเต็มที่ เรามีโครงการบัดดี้ที่เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุน โดยเป็นการจับคู่ให้นักศึกษาไทยได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมกับนักศึกษาจีน  การเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมในสภาพแวดล้อมจริง จะช่วยให้นักศึกษาพัฒนาทักษะทางภาษาได้เร็วขึ้นและสามารถทำงานร่วมกับชาวต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยจากการสนับสนุนทุนจากภาครัฐบาลจีน ทำให้เราสามารถขยายโอกาสให้นักศึกษาไทยได้เรียนรู้ภาษาจีนและวัฒนธรรมจีนผ่านโครงการ  3+1 คือ เรียนที่ไทย 3 ปี ไปเรียนที่จีน 1 ปี  หรือ หลักสูตร 2+2 คือ เรียนที่ไทย 2 ปี เรียนที่จีน 2 ปี และได้ปริญญาทั้งไทยและจีน พร้อมทั้งมีการจัดสรรทุนการศึกษาให้นักศึกษา

ด้าน อาจารย์โหยว เสียง คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีน กล่าวว่า การสนับสนุนจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพ ส่งเสริมให้นักศึกษาไทยได้พัฒนาทักษะทางภาษาได้เร็วขึ้นและสามารถทำงานร่วมกับบริษัทข้ามชาติจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันทางวิทยาลัยนานาชาติจีนได้พัฒนาหลักสูตรที่เน้นเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพราะต่อไปไทยจะเป็นฐานผลิตที่สำคัญในด้านนี้ รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในสายสุขภาพ โดยได้รับความร่วมมือกับภาคเอกชนชั้นนำในประเทศจีน เพื่อพัฒนานักศึกษาไทยให้มีความรู้ความสามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต