คณะศิลปกรรมฯ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ พานักศึกษาดูงาน SIAM WOODLAND เปิดโลกวัสดุใหม่ในโลกการออกแบบภายใน: สร้างสรรค์และยั่งยืน
นักศึกษาชั้นปี 3 สาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ วิชาเอกการจัดสภาพแวดล้อมภายใน คณะศิลปกรรมศาสตร์ (FA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ศึกษาดูงานที่บริษัท สยามวู้ดแลนด์ จำกัด ผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและสร้างสรรค์วัสดุปิดผิวตกแต่งภายในเพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพให้กับนักศึกษาก่อนออกปฏิบัติงานจริงในอนาคตสู่วงการออกแบบ พร้อมก้าวสู่การเป็น Interior Designer มืออาชีพ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
โดยบริษัท สยามวู้ดแลนด์ จำกัด เป็นผู้นำทางด้านการสร้างสรรค์งานด้านวัสดุปิดผิวสำหรับงานตกแต่งภายในและเชี่ยวชาญด้านการผลิตวัสดุปิดผิว ประเภทไม้วีเนียร์ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุปิดผิวผนัง ปิดผิวท็อปโต๊ะ ปิด ผิวเฟอร์นิเจอร์ และที่ปรึกษาในการสร้างสรรค์ไอเดียในการออกแบบให้กับกลุ่ม Interior Designer ทำให้การศึกษาดูงานครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ในเชิงการศึกษาเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาทักษะและความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาในการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต
อาจารย์วีร์ธิดา รุ่งเรืองธนไพศาล อาจารย์ประจำวิชาเอกการออกแบบสภาพแวดล้อมภายใน คณะศิลปกรรมศาสตร์ DPU เปิดใจว่า การศึกษาดูงานครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้ประสบการณ์เชิงลึก และตรงจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่มากด้วยประสบการณ์ เกี่ยวกับกระบวนการผลิตวัสดุปิดผิวคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนถึงการนำไปใช้งานจริงในงานตกแต่งภายใน ทำให้นักศึกษาเข้าใจคุณสมบัติและการเลือกใช้งานของวัสดุได้อย่างชัดเจน และเหมาะสมกับงานออกแบบของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ นักศึกษายังได้สัมผัสเครื่องจักรที่ทันสมัยที่ใช้ในการผลิตวัสดุชนิดต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ชุดครัว และงานตกแต่งภายในได้อย่างหลากหลาย โดยผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำพร้อมกับอธิบายถึงงานแบบลงลึกรายละเอียด อาทิ ประเภทของวัสดุที่เหมาะกับงานออกแบบตกแต่งภายในแต่ละประเภท โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่น เป็นกันเองและสนุกสนาน ทำให้นักศึกษาทุกคนได้ทำความเข้าใจและรู้จักวัสดุในงานออกแบบตกแต่งภายใน รวมถึงกระตุ้นให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบได้ดีมากยิ่งขึ้น
“สิ่งที่สำคัญที่สุด การศึกษาดูงานครั้งนี้มีประโยชน์ทั้งในเชิงการศึกษาและพัฒนาทักษะทางวิชาชีพของนักศึกษา โดยสามารถทำให้นักศึกษาพัฒนาทักษะ (Up-Skills) ในมิติด้านวัสดุในงานออกแบบเรียนรู้กระบวนการผลิตของจริงของไม้วีเนียร์ และยังเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการเลือกใช้วัสดุ อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้นักศึกษาให้มีความพร้อม และนำไปประยุกต์ใช้ในงานออกแบบต่อไปสำหรับการทำงานในอนาคต”